“สุพันธุ์” เปิดใจเข้าสู่ถนนการเมือง “ไทยสร้างไทย” ชูคนไทยหายจนหมดหนี้ใน 3 ปี
“สุพันธุ์” เปิดใจพลิกชีวิตจากเส้นทางธุรกิจสู่ถนนการเมือง เพราะรู้ถึงปัญหา รู้วิธีแก้ไข จึงตัดสินใจเข้ามาดีกว่านั่งว่านั่งวิจารณ์อยู่ข้างนอก เผยพรรคไทยสร้างไทยพร้อมปลดล็อกเศรษฐกิจด้วยนโยบาย 3 สร้าง ได้แก่ สร้างพลังคนตัวเล็ก สร้างรายได้ สร้างโอกาสและความสุข
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในฐานะรองหัวหน้าและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 ต่อจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรค และการพลิกผันชีวิตการทำงานจากนักธุรกิจมาสู่สนามการเมือง ว่า ในระหว่างทำงานเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอยู่ในตำแหน่งนี้รวม 3 สมัย และได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการต่างๆ ได้เริ่มเห็นปัญหาในการบริหารจัดการของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 ที่มองว่าการแก้ปัญหาล่าช้า กระทบต่อทั้งชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ
“ผมไม่เคยเห็นภาคเอกชนเข้ามาเล่นการเมืองมาก่อนเลย น้อยมาก ยกเว้นคุณทักษิณ ชินวัตร นอกนั้นเป็นข้าราชการการเมือง นักทฤษฎีทั้งหมด ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องลงมาทำงานการเมืองเอง เพราะเรารู้ถึงปัญหาและวิธีแก้ไข และการทำงานของผมก็ไม่ได้หวังผลประโยชน์ ไม่ต้องรักษาผลประโยชน์ให้ใคร ต่างกับรัฐที่มองความมั่นคงเฉพาะกลุ่ม จึงตัดสินใจมาทำงานการเมืองซึ่งคิดว่าดีกว่านั่งว่านั่งวิจารณ์อยู่ข้างนอก”
ทั้งนี้ จะเห็นว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศทรุดตัวลงมาก หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นมาแตะระดับ 80-90% ต่อจีดีพี แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน หนี้สาธารณะของประเทศก็เพิ่มสูงมากขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มสูงขึ้นมากจนเกิดปัญหาทางสังคมตามมา หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหามากและกระทบมายังภาคส่วนต่างๆในสังคม ในที่สุดประเทศก็คงไปไม่รอด พรรคจึงต้องการให้คนไทยหายจนหมดหนี้ มีรายได้ดีใน 3 ปี
นโยบาย 3 สร้างปลดล็อกเศรษฐกิจ
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคไทยสร้างไทย จึงเน้นไปที่การปลดล็อกเศรษฐกิจด้วยนโยบาย 3 สร้าง คือสร้างพลังคนตัวเล็ก สร้างรายได้ควบคู่กับการลดรายจ่าย และสร้างโอกาสและความสุข
“การสร้างพลังคนตัวเล็กจะต้องทำการปลดล็อกกฎหมาย ออกกฎหมาย 1,400 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของคนตัวเล็กรวมทั้งปลดล็อกรัฐราชการ แขวนกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐรวมศูนย์ สร้างกฎหมายที่กระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง ตลอดจนปลดล็อกคอร์รัปชัน โดยเดินหน้าปราบปราม และสร้างระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันการจ่ายใต้โต๊ะ”
ขณะเดียวกัน ต้องปลดล็อกเศรษฐกิจด้วย การแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะหากประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังมีหนี้สินอยู่ทำให้จะขยับตัวได้ลำบาก โดยสิ่งที่เป็นปัญหามากคือหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-20% เมื่อรวมจำนวนหนี้ทั้งในและนอกระบบคิดเป็นวงเงินรวม 14-15 ล้านล้านบาท
“นโยบายที่คิดไว้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขหนี้สินอย่างเป็นขั้นตอน โดยส่วนแรกต้องมีการแก้หนี้เสียที่เกิดขึ้นจากช่วงโควิด-19 โดยการตั้งกองทุนการฟื้นฟูหนี้เสีย วงเงิน 10,000-20,000 ล้านบาท โดยนำเงินในกองทุนไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในฐานของเครดิตบูโรที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบ โควิด-19 ซึ่งกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน เป็นวงเงินรวมประมาณ 400,000-500,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯนี้จะไปทำหน้าที่ในการจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้พร้อมทั้งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับลดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในกลุ่มนี้ด้วยเพื่อให้ลูกหนี้ในกลุ่มนี้สามารถกู้เงินไปทำธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้”
ให้ประชาชนกู้ยืมเงินฉุกเฉิน
นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ได้เป็นรูปธรรม ต้องมีการตั้งกองทุนเครดิตประชาชน ทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้กับประชาชนในลักษณะวงเงินฉุกเฉิน โดยให้กู้ยืมได้ 5,000-50,000 บาท โดยกำหนดดอกเบี้ยต่ำที่ 1% ต่อเดือน และสามารถผ่อนจ่ายได้เป็นรายวัน เมื่อจ่ายครบ จ่ายตรง ก็จะเพิ่มวงเงินในการกู้ให้กับประชาชนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนโดยไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ โดยมาตรการนี้จะทำควบคู่กับการส่งเสริมให้มีไมโครไฟแนนซ์ที่รัฐบาลกำกับอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งมองว่าเมื่อมีหลายรายที่เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ลดลง
จากนั้นกองทุนที่ 3 คือ กองทุนสร้างไทย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง และมีปัญหาหนี้สินมากในช่วงที่ผ่านมาและเติมทุนสร้างนวัตกรรมให้กับสตาร์ตอัพ วงเงิน 300,000 ล้านบาท สิ่งที่ควบคู่กันนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจะขยายวงเงินในการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินมาหมุนเวียนทำธุรกิจได้
“ยังมีนโยบายในการช่วยเหลือธุรกิจให้ลดต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดต้นทุนระยะเวลาการขอใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคและต้นทุนในการทำธุรกิจ เช่น ให้จดแจ้งธุรกิจได้ภายใน 7 วัน”
แรงงานเข้าระบบตั้งแต่อายุ 18 ปี
ส่วนประชาชนจะได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนโต โดยมีนโยบายเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี โดยนักเรียนไม่ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และลดเวลาเรียนลง 3 ปี เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รวดเร็วขึ้นคือตั้งแต่อายุ 18 ปี และบทบาทของครู อาจารย์และสถานศึกษาต้องปรับเปลี่ยนไปทำบทบาทในการเป็นโค้ชชิ่งเพื่อให้สามารถได้ความรู้สำหรับไปประกอบอาชีพ และมีทักษะที่จำเป็น เช่น ด้านเทคโนโลยี ออนไลน์ ที่มีความจำเป็นสำหรับโลกอนาคต เช่นเดียวกับการลดค่าใช้จ่ายให้กับมนุษย์เงินเดือน จะยกเว้นภาษีให้กับผู้รายได้ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี ส่วนเอสเอ็มอีก็จะได้รับการยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรกที่เปิดธุรกิจ เพื่อให้มีความเข้มแข็งสามารถอยู่ได้
นายสุพันธุ์ ยังแสดงความเห็นถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ต้องปรับปรุงให้เป็นพื้นที่โอกาสในการลงทุนของเอสเอ็มอี เช่น ดึงคลัสเตอร์เครื่องสำอางกว่า 100 บริษัทเข้ามาตั้ง โดยให้แต้มต่อผู้ประกอบการไทย เช่น ให้ราคาค่าเช่าที่ดินที่ถูกกว่าต่างชาติ รัฐบาลให้การสนับสนุนผ่านการตั้งศูนย์ทดลองวิจัย โลจิสติกส์ และส่งเสริมด้านการตลาด สนับสนุนยกเว้นภาษี 5-8 ปี เพื่อให้สามารถออกไปแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ หรืออยู่ในซัพพลายเชนของโลก จากนั้นรัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่แข็งแรงขึ้น.